เชื่อว่าคนเกินครึ่งถ้าถามว่าเวลาเผ็ดต้องทำยังไง คงจะตอบว่า “ดื่มน้ำ” อย่างแน่นอน เพราะความเผ็ดคืออาการแสบร้อน แล้วอะไรจะดูดับร้อนได้ดีไปกว่าน้ำอีกล่ะ? แต่บอกเลยนะคะ ว่าความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะแท้จริงแล้วการดื่มน้ำไม่ได้ช่วยทำให้หายเผ็ด แถมดีไม่ดียังจะทำให้เผ็ดมากขึ้นกว่าเดิมด้วย ทำไมน้ำถึงไม่ใช่พระเอกของเรื่องนี้? ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนว่า ความเผ็ดจากพริก มีที่มาจากสารตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “แคปไซซิน (Capsaicin)” ซึ่งเจ้าสารตัวนี้เมื่อสัมผัสกับเนื้อเยื่อของร่างกายเราจะสร้างให้เกิดความรู้สึกแสบร้อน หรือก็คือ “ความรู้สึกเผ็ด” นั่นแหละ ข้อต่อมาที่เราต้องรู้ ก็คือเจ้าแคปไซซินนั้นเป็นสารแบบโมเลกุลไม่มีขั้ว (non-polar molecules) ซึ่งจะละลายได้ในสารโมเลกุลไม่มีขั้วด้วยกันเองเท่านั้น มาถึงตรงนี้พอจะเดาได้แล้วใช่ไหมคะ ถูกต้องค่ะ “น้ำ” เป็นสารโมเลกุลแบบมีขั้ว (Polar molecules) ดังนั้นแคปไซซินจึงไม่ละลายในน้ำ (ต่อให้เป็นน้ำเย็นก็เถอะ) และที่แย่กว่านั้นก็คือน้ำจะพาให้สารแคปไซซินกระจายไปทั่วปาก ทำให้เผ็ดหนักกว่าเดิมเข้าไปอีก! แล้วกินอะไรถึงจะหายเผ็ดได้ล่ะ? พระเอกตัวจริงของเรื่องนี้ก็คือ นม (และผลิตภัณฑ์จากนม) นั่นเอง! เพราะว่านมมีโมเลกุลแบบไม่มีขั้ว ทำให้สามารถช่วยเจือจางความเผ็ดจากแคปไซซินได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นครั้งหน้าถ้ากินอะไรเผ็ดๆ มามองหานม โยเกิร์ต หรือไอศกรีมแทนดีกว่านะ! ขอขอบคุณข้อมูลจาก FoxNews
ใครเป็นแฟนคลับอาหารต้มรสชาติจัดจ้านบ้างคะ เคยสงสัยเหมือนกันรึเปล่าว่าที่จริงแล้ว ทั้งต้มยำ ต้มแซ่บ และต้มโคล้งมันเหมือนหรือต่างกันยังไง เอาจริงๆ แล้ว จะว่าคล้ายก็คล้าย แต่ทั้งสามอย่างต่างก็มีเอกลักษณ์และรสชาติ รวมถึงส่วนผสมที่ต่างกันอยู่นะ และมาดูกันดีกว่าว่าส่วนผสมของทั้ง 3 เมนู ให้ประโยชน์อะไรบ้าง ต้มยำ 1 ถ้วยให้พลังงานประมาณ 66 Kcal. เชฟชุมพล แจ้งไพรจากร้าน R.Haan เคยกล่าวว่า ต้มยำแบบดั้งเดิมนั้น จะมีลักษณะเป็นแบบต้มยำน้ำใส เนื้อกุ้งและมันหัวกุ้งจะช่วยเพิ่มความเข้มข้นให้น้ำ ในขณะที่ต้มยำน้ำข้นแบบในปัจจุบันจะมีการใช้นม กะทิและน้ำพริกเผาเข้ามาผสม ต้มแซ่บ 1 ถ้วยให้พลังงานประมาณ 115 Kcal. ต้มแซ่บเป็นเมนูเดียวใน 3 เมนูนี้ ที่ไม่ปรากฏความหมายในราชบัณฑิตยสถาน ถือเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในภาคอีสาน คล้ายคลึงกับต้มยำของทางภาคกลาง แต่นิยมใส่พริกป่นแทนพริกสด ต้มโคล้ง 1 ถ้วยให้พลังงานประมาณ 60 Kcal. เชฟโบ ดวงพร ทรงวิศวะจากร้านโบ.ลาน ได้อธิบายเกี่ยวกับที่มาของชื่อเมนูต้มโคล้งไว้ว่า คำว่า ‘โคล้ง’ อาจมีที่มาจากชื่อแกงโบราณที่เรียกว่า ‘โพล้ง’ ที่ใช้วัตถุดิบใกล้เคียงกับต้มโคล้งในปัจจุบัน โดยเฉพาะมะขามเปียก …