How toวิธีเก็บเงิน ให้ใช้ยามฉุกเฉินและตอนเกษียณได้ในแบบฉบับคนทั่วไป

วิธีเก็บเงิน ให้ใช้ยามฉุกเฉินและตอนเกษียณได้ในแบบฉบับคนทั่วไป

Tips&How to

วิธีเก็บเงิน ให้ใช้ยามฉุกเฉินและตอนเกษียณได้

วิธีเก็บเงิน คือหนึ่งในวินัยที่ทุกคนต้องเริ่มมีให้ได้ เพราะเราไม่รู้เลยว่าในอนาคตจะมีเหตุการณ์อะไรฉุกเฉินบ้าง อย่างน้อยๆ ก็มีเงินก้อนไว้ใช้ยามแก่ชรา แต่ความสำคัญของการออมเงินเลยคือ อย่าพยายามสร้างรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และลดความฟุ่มเฟือยลง

งั้นไปลองดู “วิธีการออมเงิน” ที่เรานำมาฝากจากกูรูด้านการเงินในช่องยูทูปดูสิว่า เค้าแนะนำว่าอย่างไรบ้าง

พอล ภัทรพล ในรายการ Money Matters ช่องยูทูป Paul Pattarapon

สูตรเก็บเงินที่แนะนำโดยคุณพอล ภัทรพล ที่ทำคลิปไว้เมื่อต้นปี 2021 ถึงวิธีการเก็บตังค์ที่อ้างอิงมาจากหนังสือที่ชื่อว่า All Your Worth โดยการตั้งกฎให้ตัวเองมีวินัยในการออมอย่างมีทิศทางคือ กฏ 50/30/20 แบ่งเป็น % ตามชีวิตประจำวัน

50% แรกค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น การผ่อน, ให้พ่อแม่, ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ อีก 30% สิ่งที่เราอยากได้ เช่น ท่องเที่ยว, ช้อปปิ้ง และ 20% เงินออม

ทั้งนี้คุณพอลยังแนะนำเพิ่มเติมว่าหรือเราไปลดตรงส่วนสิ่งที่อยากได้ลง เงินออมก็จะเยอะขึ้นได้เช่นกัน อย่างการปรับกฎเป็น 50/40/20 คือใช้จ่าย 50%, เปลี่ยนเป็นออม 40% และอีก 10% คือสิ่งที่อยากได้ แต่เราจะออมอย่างไรนั้นต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ร่วม เช่น สถานการณ์ปัจจุบัน, มีครอบครัวต้องดูแล มีลูกกี่คน เป็นต้น เพราะฉะนั้นต้องลองตั้งเป้าหมายว่าพอตอนเกษียณเราจะอยากมีเงินก้อนเท่าไรก็ปรับไปตามกฎนั่นเอง แต่ต้องมีวินัยในการเก็บกันด้วยนะ

Than Money Trick

ช่องของคุณธัญที่แนะนำทั้งการออมเงินและการลงทุนไว้หลายคลิปมากๆ ก็พูดถึงการออมเงินในแบบฉบับของตัวเองไว้เช่นกัน โดยการทำตามวินัย 5 ข้อ ทำไปพร้อมกัน ซึ่งสูตรนี้เหมาะกับคนรายได้ไม่เยอะ แต่อยากมีเงินเก็บเยอะขึ้น ให้ตั้งเป้าหมายใหม่เลยว่าเราต้องออมก่อนใช้ เพื่อไม่ให้ใช้เพลินมือเกินไป โดยคุณธัญจะเก็บอยู่ที่ 20-30% ของรายได้ จากนั้นเราแยกบัญชีเงินเก็บกับเงินเดือน โดยบัญชีเงินเก็บแนะนำไม่ต้องมีบัตรกด นอกจากนี้ยังเก็บเล็กผสมน้อยอย่างการเก็บแบงก์ 50 หรือแบงก์ใหม่ หรือแบงก์เลขสวย อย่างที่เค้าฮิตๆ กัน และเก็บเศษเหรียญ

ส่วนเรื่องการใช้นั้นแนะนำให้คำนวณว่าต่อวันใช้ประมาณเท่าไร ก็แบ่งเงินรายวันไว้ใช้ก็ช่วยให้เราจัดการตัวเองได้ง่ายขึ้น

Guru Living

ช่องที่แนะนำเรื่องทั้งเรื่องผ่อนบ้าน สินเชื่อ รวมถึงการออมเงินก็พูดถึงหลักการออมเงินในแบบฉบับตัวเองไว้เช่นกัน โดยมีข้อควรปฏิบัติอยู่ 4 อย่าง คือ การตั้งเป้าหมายการออมต่อเดือน ซึ่งปกติอย่างน้อยๆ แนะนำให้ออม 10% ของรายได้ เช่น เงินเดือน 15,000 ก็ออม 1,500 บาทต่อเดือน เป็นต้น นอกจากนี้วันที่เหมาะสมในการเก็บเงินออมก็สำคัญมาก ควรกำหนดให้เป็นวันแรกที่เงินเดือนเข้า เพื่อเราจะได้ไม่ใช้เพลินและมีเก็บแน่นอน

อีกสิ่งที่สำคัญและช่อง Guru Living อธิบายได้อย่างน่าสนใจมากว่าเราออมเท่าไรดีล่ะ!? บอกเลยว่า ยังไงก้อนแรกที่ควรเก็บ คือ เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน โดยการตั้งเป้าก้อนนี้ว่าเราต้องมีให้ได้ 6 เท่าของรายจ่ายทุกเดือน (การบันทึกค่าใช้จ่ายต่อเดือนจึงมีประโยชน์มาก) เช่น รายจ่ายเราอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือน เราควรเก็บให้ได้ 6 เท่าของรายจ่ายคือ 60,000 บาท โดยเริ่มทยอยๆ เก็บตามเป้าหมายที่เราเก็บต่อเดือน จากนั้นหากเราเก็บเงินฉุกเฉินก้อนแรกได้แล้ว ก็ตั้งเป้าเก็บเงินอื่นๆ ต่อไปเพื่อการลงทุนในแง่ต่างๆ ในอนาคตนั่นเอง

Kru-Ngor ครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ

มนุษย์เงินเดือนทั่วไป ฝึกวินัยการออม ลองดูวิธีที่ครูเงาะเคยพูดถึงตามทฤษฎี 6 Jars หลักการของ T. Harv Eker ที่ให้แบ่งเงินออกเป็น 6 กอง

กองที่ 1 เยอะสุดจะเป็นค่าใช้จ่ายประจำ 50% และกองที่ 2-6 กองละ 10%  แบ่งเป็นเงินใช้ยามเกษียณ, เงินทุนต่อยอด, เงินพัฒนาตัวเอง, เงินฟุ่มเฟือย, เงินทำบุญ ซึ่งในจุดนี้ครูเงาะแนะนำเพิ่มเติมว่า ถ้าเรามีกองอื่นๆ อีกที่จำเป็นส่วนบุคคลก็สามารถย่อยแต่ละกองได้ เช่น เรามีหนี้สิน ก็แบ่งจากส่วนฟุ่มเฟือยเป็น 5% และหนี้สินอีก 5% ทั้งนี้หากเก็บไปสักพัก ในระยะยาวก็ปรับได้ตามเหมาะสมด้วยนะจ้า

Dr.sidney รู้ก่อนรวยก่อน

หรือดร ศุภชัย สุขะนินทร์ เจ้าของธุรกิจมากมายได้แชร์วิธีการเก็บเงินที่เราว่าเหมาะมากทั้งสำหรับกลุ่มฟรีแลนซ์ที่รายได้ไม่แน่นอน และกลุ่มที่มีรายได้แน่นอนแต่ไม่เยอะ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีเงินเก็บ 70,000 บาทใน 1 ปี ซึ่งลองดูวิธีใดวิธีหนึ่งตามนี้

วิธีที่ 1 หยอดกระปุกวันละ 192 ฿ ต่อวัน (1 ปีจะได้ 70,080 บาท), วิธีที่ 2 สูตร 365 วัน เก็บตามเลขวันใน 1 ปี เช่น วันที่หนึ่ง 1 บาท วันที่ 365 ก็ 365 บาท (1 ปีจะได้ 66,795 บาท) และวิธีที่ 3 เก็บรายได้ 5,834 บาทต่อเดือน (1 ปีจะได้ 70,000 บาท)

ส่วนวิธีอื่นๆ ที่ทำให้เรามีเงินออมได้ถึงฝั่งฝันนั้นก็อาจใช้ทริคต่างๆ เพิ่มมูลค่าและลดรายจ่ายเพื่อการออมที่ยั่งยืนขึ้นตามที่ ดร.ซิดนีย์ แนะนำในคลิปคือ การหาที่ฝากพวกกองทุน จะได้ดอกเบี้ยที่ดีกว่าออมทรัพย์ปกติ, ตั้งงบรายวัน ให้ไม่เกิน 150 บาท (วิธีนี้สำหรับเรา คิดว่าใช้ได้ดีในกรณีนี้เราได้เงินรายวันจำกัด) รวมถึงการตั้งรายจ่ายให้ตายตัว เช่น ควบคุมตัวเลขใช้บัตรเครดิตต่อเดือน เป็นต้น และอย่าสร้างหนี้เพิ่ม

หรือการหาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ เช่น พวกขายของออนไลน์ การวิ่งส่งอาหาร สุดท้ายอีกวิธีที่ทำให้เราสนุกกับการเก็บเงินขึ้นคือการเก็บเศษเงิน ได้มาเท่าไรเก็บหมด เช่น เงินทอนจากการซื้อของต่างๆ และทุกอาทิตย์ลองเก็บแบงก์ร้อย ไม่ต่ำกว่า 5 ใบ ในหนึ่งปีก็ได้เงินก้อนเป็นกำลังใจเหมือนกันนะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เนื้อหาใหม่ล่าสุด

More article